วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554



มันสำปะหลัง

การผลิตและการค้ามันสำปะหลังทำได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการแปรรูป กลุ่มสินค้า และ สินค้าที่จัดตาม Harmonized System สามารถแจกแจงได้ดังนี้ตามลักษณะการส่งออก
ก. มันสำปะหลังเส้นและมันสำปะหลังอัดเม็ด
ข. แป้งมันสำปะหลัง
ค. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ


ก. การผลิตมันเส้น
การผลิตมันเส้นทำได้โดยการแปรรูปหัวมันสดโดยใช้เครื่องตีหัวมันเป็นเส้นเล็ก แล้วนำไปตากบนลานซีเมนต์ประมาณ 2-3 วัน แต่ถ้าเป็นฤดูฝนจะใช้เวลาในการตากมันมากกว่าปกติ ซึ่งตามปกติแล้วการผลิตมันเส้น 1 กิโลกรัมต้องใช้หัวมันสด (มีปริมาณแป้งร้อยละ 25) 2-2.5 กิโลกรัม เมื่อแห้งดีแล้วจะต้องได้มาตรฐานความชื้นที่มีในมันเส้นประมาณร้อยละ 14 แล้วจึงทำการเก็บเพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมมันอัดเม็ดต่อไป
ข. การผลิตมันอัดเม็ด
กรรมวิธีการผลิตมันสำปะหลังอัดเม็ดทุกแห่งไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรจากต่างประเทศหรือในประเทศจะมีกรรมวิธีการผลิตเหมือนกัน กล่าวคือ ก่อนทำการอัดมันเส้นจะต้องนำมาร่อนเพื่อให้เศษที่เป็นผงและสิ่งเจือปนต่างๆออกเสียก่อน เสร็จแล้วแยกมันเส้นที่มีขนาดใหญ่มาตรฐานเข้าเครื่องบดแฮมเมอร์ทิลล์ ต่อจากนั้นมันเส้นที่ได้ขนาดและเกินขนาดที่ถูกบดแล้วจะถูกลำเลียงไปยังถังใส่บนเครื่องอัดก่อนส่งเข้าเครื่องอัด มันอัดเม็ดจะถูกพ่นน้ำเพื่อให้มีความชื้นในระดับที่เหมาะสม เมื่ออกจานกเครื่องใหม่ๆ มันอัดเม็ดจะยังอุ่น และอ่อนนุ่ม เราต้องส่งเข้าเครื่องระบายความร้อนเพื่อลดอุณหภูมิและความชื้น หลังจากนั้นมันอัดเม็ดจะมีความแข็ง การระบายความร้อนโดยทั่วไปจะใช้รางเลื่อนทั้งแบบตั้งและแบบนอนโดยการเป่าพัดลม เมื่อมันอัดเม็ดเย็นตัวจะถูกส่งผ่านตะแกรงร่อน เพื่อคัดมันอัดเม็ดที่ใหญ่เกินขนาดก่อน ส่วนมันอัดเม็ดที่เล็กเกินไปจะถูกส่งเข้าไปอัดใหม่ ลมจากพัดลมที่ใช้เป่ามันอัดเม็ดจะมีกำลังแรงมาก เมื่อเวลาพัดผ่านมันอัดเม็ดจะทำให้มันอัดเม็ดพุ่งเข้าไปกองในถังใบใหญ่ ส่วนผงมันที่ปลิวไปกับลมจะถูกส่งเข้าสู่เครื่องป้อนอีกครั้ง
ค. การผลิตแป้งมันสำปะหลัง
กระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบสลัดแห้งนั้นเป็นกระบวนการผลิตแบบใหม่ที่โรงงานโดยทั่วไปใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีขั้นตอนการผลิต ดังนี้
1.การเตรียมวัตถุดิบ หัวมันสำปะหลังจะถูกล้างให้สะอาดโดยผ่านเครื่องล้างหัวมันเพื่อล้างเอาเศษดินที่ยังติดอยู่กับหัวมันออกไปกับน้ำ
2. การโม่หัวมันสำปะหลัง มันสำปะหลังจะถูกลำเลียงเข้าสู่เครื่องสับหัวมันให้หัวมันมีขนาดเล็กลง ในระหว่างการโม่มีการเติมน้ำเพื่อให้สามารถโม่หัวมันได้ง่าย ในขั้นตอนนี้จะได้ของเหลวข้นที่มีส่วนผสมของแป้ง น้ำ กากมัน และสิ่งเจือปนต่างๆ
3. การสกัดแป้ง ของเหลวข้นจากเครื่องโม่จะถูกปั๊มเข้าสู่เครื่องแยกน้ำทิ้งที่มีโปรตีนและไขมันออกจากเนื้อแป้ง แล้วน้ำแป้งที่ได้จะเข้าสู่หน่วยสกัดแป้ง โดยจะถูกปั๊มเข้าสู่เครื่องสกัดแป้งซึ่งเป็นเครื่องแยกน้ำแป้งออกจากเส้นใยและกาก โดยเครื่องนี้จะแบ่งหน้าที่ตามการกรองออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดสกัดหยาบ และชุดสกัดละเอียด ซึ่งน้ำแป้งจะผ่านชุดสกัดหยาบก่อนเพื่อแยกกากหยาบออก แล้วจึงเข้าสู่ชุดสกัดละเอียดเพื่อทำให้บริสุทธิ์ขึ้นโดยผ่านผ้ากรองที่มีขนาดเล็กลงของเครื่องสกัดละเอียด จากนั้นน้ำแป้งที่มีความบริสุทธิ์สูงจะถูกสูบจากถังพักมายังเครื่องสลัดแห้ง ซึ่งจะเหวี่ยงแยกน้ำออกจากน้ำแป้งทำให้ได้แป้งหมาดที่มีความชื้นประมาณร้อยละ 35-40
4. การอบแห้ง แป้งหมาดจะถูกเป่าด้วยลมร้อนอุณหภูมิ 180-200 องศาเซลเซียสจากเตาเผาขึ้นไปบนปล่องอบแห้ง แล้วตกลงมาเข้าสู่ไซโคลบความร้อนทำให้ความชื้นหายไปบางส่วน
5. การบรรจุ และเก็บรักษา ทำได้โดยการบรรจุแป้งที่ได้ในกระสอบ แล้วเรียงกระสอบบนที่รองรับเป็นชั้นๆ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการทับซ้อนกันถึง 4-5 เมตร

ภาพรวมอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของโลก

มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่สำคัญของโลกชนิดหนึ่ง ภูมิภาคที่นิยมบริโภคได้แก่ แอฟริกา ละติน อเมริกาและแคริบเบียน รวมทั้งบางส่วนของเอเซีย ดังนั้น เกษตรกรในหลายประเทศจึงนิยมปลูกมันสำปะหลังกันอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากจะใช้บริโภคได้แล้ว มันสำปะหลังส่วนเกินยังสามารถแปรรูปเป็นสินค้าอื่นที่ทำรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทคนิคการปลูกได้รับการพัฒนามากขึ้น มีผลผลิตส่วนเกินมากขึ้น มันสำปะหลังจึงกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่นำรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะไทยที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในรูปแบบต่างๆ เช่น มันเส้นและมันอัดเม็ด และแป้งมัน มากกว่าการใช้ภายในประเทศที่เป็นลักษณะโดยทั่วไปของประเทศผู้ผลิตรายสำคัญของโลก อาทิ ไนจีเรีย บราซิล และอินโดนีเซีย เป็นต้น มันสำปะหลังจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในหลายประเทศ
จากข้อมูลการผลิตมันสำปะหลังทั่วโลกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา การผลิตมันสำปะหลังของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลงบ้างเล็กน้อยทั้งนี้เป็นเพราะผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญ่และลานิญ่า แต่หลังจากปรากฎการณ์ดังกล่าวผลผลิตมันสำปะหลังทั่วโลกในปี 2542 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.8 คิดเป็นปริมาณผลผลิตประมาณ 167.7 ล้านตัน โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในเอเซีย ละตินอเมริกา และแคริบเบียน ช่วยชดเชยการลดลงของปริมาณผลผลิตจากทวีปแอฟริกา
ทั้งนี้เมื่อจำแนกการผลิตตามแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญ จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ทวีป แอฟริกายังคงเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดของโลก แม้ว่าบางปีผลผลิตจะมีปริมาณลดลงบ้างก็ตาม แต่ก็ยังคงอยู่ในทิศทางของการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เอเซียปริมาณการผลิตมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับละตินอเมริกา ส่วนในเอเชียมีประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็นประเทศหลักที่ผลิตมันสำปะหลังสด
เมื่อพิจารณาภาพรวมการปลูกมันสำปะหลังทั่วโลกแล้วพบว่า แม้จะมีการปลูกในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็ตาม แต่ผลผลิตส่วนใหญ่จะมาจากผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 5 ประเทศคือ ไนจีเรีย บราซิล ไทย คองโก และอินโดนีเซีย

ภูมิภาคแอฟริกายังคงเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดของโลก แม้ว่าในบางปีผลผลิตจะมีปริมาณลดลงบ้างก็ตาม แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ได้ส่วนมากจะใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักเท่านั้น ขณะที่ภูมิภาคละตินอเมริกาและเอเซีย โดยเฉพาะไทยมีบทบาทในการส่งออกมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับต้นของตลาดโลก
แนวโน้มของการผลิต การใช้ และการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในตลาดโลก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าในภาพรวมของพื้นที่ปลูกลดลง แต่ผลผลิตมันสำปะหลังกลับค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลจากการนำระบบการปลูกสมัยใหม่เข้ามาใช้ ทั้งการใช้ปุ๋ยและสารเคมีควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรักษาระดับผลผลิตให้คงที่ และเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซีย ที่ค่อนข้างจะเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม มีการจัดการและควบคุมโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี ทำให้ผลผลิตในหลายประเทศเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

ในส่วนของต้นทุนการผลิต โดยทั่วไป การผลิตของประเทศในภูมิภาคเอเซีย ค่อนข้างจะเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม มีการจัดการที่ดี และสามารถควบคุมโรคและแมลงได้เป็นอย่างดี แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตในภูมิภาคเอเซีย ส่วนใหญ่ยังเป็น ต้นทุนแรงงาน แม้จะมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการปลูกมากขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะไทย
การใช้ประโยชน์มันสำปะหลัง ทิศทางการใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลังในภาพรวมได้เริ่มเปลี่ยนจากแนวทางที่เคยเป็นมาคือ มีการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งการใช้ในประเทศและการแปรรูปเพื่อการส่งออก ขณะที่การบริโภคและใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเริ่มมีน้อยลง แม้ว่าในบางประเทศจะมีการบริโภคมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นก็ตาม ในขณะเดียวกันแนวโน้มการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง หลายประเทศได้เริ่มให้ความสนใจการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และแป้งมัน แม้ว่าบางส่วนยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะพัฒนาร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมมากขึ้นและการร่วมมือกันในด้านการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มปริมาณตามความต้องการของตลาด
การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปี 2542 มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นปริมาณการส่งออกประมาณ 5.2 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปริมาณการส่งออกเมื่อปี 2540 (5.3 ล้านตัน) ขณะที่การส่งออกของไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของอินโดนีเซีย และจีน กลับมีปริมาณลดลง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งการใช้ในอุตสาหกรรมและการบริโภค

1. อุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศจีน

1.1 สถานการณ์มันสำปะหลังของจีน

ในปี 2542 จีนมีความต้องการใช้มันสำปะหลังประมาณปีละ 6.6 ล้านตัน แต่สามารถผลิตมันสำปะหลังได้เพียง 3.75 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศประมาณปีละ เกือบ 3 ล้านตัน เพื่อสนองความต้องการใช้ในประเทศ จีนมีผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้ในประเทศมีการปรับตัว ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ทั้งนี้เพราะมีสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่ใช้ทดแทนมันสำปะหลังได้ เช่น ข้าวโพดและอ้อย ในกรณีใช้สินค้าเกษตรเหล่านี้ เพื่อทำแอกอฮอล์ ดังนั้นจะพบได้ว่าปริมาณการนำเข้ามันสำปะหลังจะเปลี่ยนแปลงไปตามการใช้ในประเทศในแต่ละปี ในขณะที่การส่งออกมันสำปะหลังของจีนมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับการผลิตโดยรวม

1.2 การผลิต

การปลูกมันสำปะหลังของจีนมีการปลูกในพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ โดยแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญอยู่บริเวณตอนใต้ของจีนในมณฑลกวางสีและไหหลำ นอกจากนี้ยังมีการปลูกในมณฑลกวางตุ้ง ยูนนาน และฟูเจี้ยนอีกด้วย โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การทำแป้งมัน แป้งมันสำเร็จรูป (modified starch) การผลิตแอลกอฮอล์และแป้งในอุตสาหกรรมเคมี (starch derivative) ส่วนการนำมาใช้ในด้านอาหารสัตว์นั้น ได้นำมาใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับการเลี้ยงหมู อย่างไรก็ตามการนำมันสำปะหลังไปเลี้ยงหมูยังไม่ได้ทำอย่างกว้างขวางนัก จากการสัมภาษณ์บริษัทเอกชนในมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นมณฑลหลักในการเลี้ยงหมูของจีน บริษัทเอกชนหลายแห่ง กล่าวว่า การเลี้ยงหมูส่วนใหญ่ยังใช้ข้าวโพดเป็นอาหารหลักอยู่ แต่มีความสนใจในการใช้มันสำปะหลังในการเลี้ยงหมูมากขึ้นในอนาคต เพราะมันสำปะหลังมีต้นทุนในอาหารสัตว์ที่ถูกกว่า ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการต้องใช้โปรตีนอื่น ๆ ที่ต้องผสมกับมันสำปะหลังว่าจะทำให้ต้นทุนเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ขณะนี้จีนยังไม่สามารถผลิตมันสำปะหลังได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ เนื่องจากผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ต่ำ ขาดพันธุ์ที่ดี และปัญหาด้านดินเสื่อมคุณภาพ

ปริมาณการผลิตและประสิทธิภาพในการผลิตของจีน

ปัจจุบันจีนผลิตหัวมันสำปะหลังสดได้ประมาณ 3.5 – 4.0 ล้านตันต่อปี โดยปี 2544 จีนจะสามารถผลิตหัวมันสำปะหลังประมาณ 3.85 ล้านตัน บนพื้นที่ปลูกประมาณ 4 ล้านหมู่ (1.5 ล้านไร่) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2542และ2543 ที่มีการผลิต 3.75-3.80 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ส่วนการเพาะปลูกมันสำปะหลังในปี 2545 น่าจะลดลงประมาณ 10 %เพราะได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่น และเกษตรกรหันไปปลูกอ้อยซึ่งมีราคาดีกว่า
ส่วนประสิทธิภาพในการผลิตพบว่า จีนมีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแต่ไม่มากนัก โดยปี 2544 มีผลผลิตต่อไร่ 2,566.52 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์จากปี 2543 สำหรับสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น ข้าว จีนมีนโยบายลดพื้นที่การปลูกข้าวลงและปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังของจีนนั้นมีมากขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมามีการขยายพื้นที่การเพาะปลูก แต่ในขณะเดียวกัน ผลผลิตต่อไร่เกือบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้อาจจะพอสรุปได้พอสังเขปว่า จีนมีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา แต่ยังขาดการพัฒนาพันธุ์ที่ดีและขาดการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต
จีนมีการผลิตหัวมันสดในปริมาณที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตโดยรวมของกลุ่มประเทศสมาชิก อาเซียน โดยมีการผลิตเพียงหนึ่งในสามของที่อินโดนีเซียผลิตและหนึ่งในห้าของที่ประเทศไทยผลิต ในขณะที่จีนเป็นประเทศที่มีประชากรสูงกว่า และมีการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ทำให้จีนต้องพึ่งพาการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศ และมีปริมาณการนำเข้าเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการบริโภคในประเทศ

การผลิตและอุตสากรรมการแปรรูปมันสำปะหลังในแหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลกวางสีซึ่งเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของจีน คือ มีการปลูกมันสำปะหลังประมาณ 60-70% ของปริมาณผลผลิตหัวมันสำปะหลังของประเทศ มีพันธุ์มันสำปะหลัง 3 พันธุ์ คือ พันธุ์ใบเล็ก พันธุ์ใบใหญ่และพันธุ์ปรับปรุง ผลผลิตต่อไร่ของการปลูกมันสำปะหลังอยู่ที่ประมาณ 2-3 ตันต่อหมู่ หรือเท่ากับ 4.807-7.260 ตันต่อไร่ (ซึ่งขัดกับข้อมูลที่ได้จาก FAO ที่มีผลผลิตต่อไร่ประมาณ 2,500 ตัน) แต่ขนาดของหัวมันสำปะหลังเล็กกว่ามันสำปะหลังของไทย และผลผลิตหัวมันสำปะหลังที่ได้มีเชื้อแป้งเฉลี่ย 24-25% (สูงสุด 28%) โดยฤดูกาลเพาะปลูกมันสำปะหลังอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนตุลาคมของทุกปี มณฑลกวางสีนี้สามารถผลิตมันเส้นได้ประมาณปีละ 1 ล้านตัน
การผลิตมันเส้นในมณฑลนี้มีอัตราการแปลงสภาพมันเส้น : หัวมัน 1: 2.5 ซึ่งการแปรสภาพมันเส้นขนาดเล็กเท่านิ้วก้อยใช้เวลาตากแดดนาน 3 วัน ส่วนมันเส้นขนาดใหญ่ใช้เวลาตากแดดประมาณ 10 วัน โดยมณฑลกวางสีที่เป็นแหล่งผลิตมันเส้นที่สำคัญของจีนสามารถผลิตมันเส้นได้ประมาณปีละ 1 ล้านตัน โดยมันเส้นที่ได้ถ้าเป็นมันเส้นชิ้นใหญ่จะใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์ ส่วนที่เหลือผลิตชิ้นเล็กเท่านิ้วก้อยจะใช้ในการผลิตอาหารสัตว์

ส่วนอุตสาหกรรมการแปรรูปมันในกวางสีนั้น มีการผลิตแป้งมันในปี 2544 ประมาณ 700,000 ตัน แต่ในปี 2545 คาดว่าจะมีผลผลิตลดลงเหลือประมาณ 450,000 ตัน โดยมีโรงงานแป้งประมาณ 120 โรงงาน ซึ่งมีโรงงานแห่งหนึ่งมีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และมีโรงงานผลิตกรดมะนาว 6 โรงงาน

1.3 การค้าและการตลาด

1.3.1 การนำเข้ามันสำปะหลังของจีน

จีนเป็นประเทศที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังประมาณ 2 ล้านตัน ในปี 2544 เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ประมาณ 4.5 เท่า จากการสอบถามผู้ประกอบการจีนพบว่าสาเหตุการนำเข้าคือ ทดแทนการใช้ข้าวโพดและอ้อย สำหรับอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ที่มีการใช้มาก ซึ่งน่าจะมีผลให้จีนมีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากปี 2542 ที่จีนมีการนำเข้ามันสำปะหลังเพียงร้อยละ 12 ของการนำเข้ามันสำปะหลังทั่วโลก โดยประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลังไปยังจีนที่สำคัญในปี 2544 ได้แก่ ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นสัดส่วน 78% 11% และ 8% ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของจีนตามลำดับ ในขณะที่ปี 2543 อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ส่งออกมันสำปะหลังไปจีนมากที่สุด รองลงมาคือ ไทยและเวียดนาม เป็นสัดส่วน 38% 34% และ 12% ตามลำดับ แต่โดยปกติแล้วไทยจะเป็นคู่ค้าลำดับที่หนึ่งของจีนมาตลอดในการส่งออกมันสำปะหลัง
หากพิจารณาสถิติการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของจีนจะเห็นได้ว่าในปี 2544 จีนต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันเส้นและมันอัดเม็ด (HS 07141020) ซึ่งจีนนำเข้าจากไทยสูงถึงร้อยละ 84 ของปริมาณการนำเข้ารวม ในขณะที่อินโดนีเซียมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 8.40 และเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น การนำเข้ามันอัดเม็ดและมันเส้นของจีนจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2544 เนื่องจากการผลิตข้าวโพดของจีนได้รับความเสียหาย และมีความต้องการมันเส้นเพื่อการผลิตแอลกอฮอล์ ขณะที่ในปี 2543 ไทยยังมีการส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดน้อยกว่าอินโดนีเซียค่อนข้างมาก แต่มากกว่าของเวียดนามเล็กน้อย
สำหรับสินค้าแป้งมันสำปะหลัง (HS 11062000) นั้นไทยเป็นผู้ครองตลาดอันดับหนึ่งในจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 88 และ 68 ในปี 2543และ2544 โดยมีเวียดนามเป็นอันดับสอง ส่วนอินโดนีเซียนั้นไม่มีการส่งออกแป้งมันไปยังจีนเลย
ส่วนสินค้าโมดิไฟด์สตาร์ช (HS 35051000) ไทยก็ยังมีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง โดยจีนนำเข้าจากไทยกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด รองลงลงไปคือจากเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน โดยมีอินโดนีเซียเป็นอันดับ 9 ในปี 2544 ส่วนเวียดนามไม่ใช่ประเทศสำคัญที่ส่งออกโมดิไฟล์สตาร์ชไปยังจีน
ส่วนสาคูที่ทำจากมันสำปะหลัง (HS 19030000) นั้นไทยก็เป็นผู้ส่งไปยังจีนมากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งการส่งออกไปยังจีนอยู่ที่ประมาณ เกือบร้อยละ 80 ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คู่แข่งอันดับถัดมาในปี 2544 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย ซึ่งยังมีส่วนแบ่งในการนำเข้าจากจีนน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสตาร์ช (HS 11081400) นั้นแม้ว่าเดิมไทยจะเคยครองตลาดในจีนได้กว่าร้อยละ 40 ในปี 2540-2543 และมีการส่งออกไปยังจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในปี 2544 นั้นเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดนี้สามารถส่งออกเพิ่มมากขึ้นจนสามารถขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทนไทยได้ โดย เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 46 ในขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40 เท่านั้น
สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่นๆ ได้แก่ หัวมันสด (HS 714 1010) และเศษมัน (HS 23031000ไทยไม่มีการส่งออกไปยังจีน แต่จีนนำเข้าหัวมันสดจากเวียดนามเพียงประเทศเดียวผ่านการค้าทางชายแดน นอกจากนั้นเสียดนามมีกระบวนการทำความสะอาดหัวมันสดที่ดีเพียงพอ เพราะค่าจ้างแรงงานต่ำและมีแรงงานจำนวนมาก ขณะที่นำเข้าเศษมันจากอินโดนีเซียมากที่สุด ถึงร้อยละ 99.50

คู่แข่งในการส่งออกของไทยในตลาดจีน

ประเทศไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลก ด้วยปริมาณการส่งออกปีละประมาณ 4-6 ล้านเมตริกตัน และเป็นสินค้าที่มีคู่แข่งการส่งออกในตลาดโลกไม่มากนัก โดยประเทศคู่แข่งดั้งเดิมของไทย คือ อินโดนีเซีย ซึ่งส่งออกปีละประมาณ 0.3 - 0.4 ล้านเมตริกตันเท่านั้น และมีส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดจีนลดลงจากเดิมอย่างมาก
อย่างไรก็ตามปัจจุบันเวียดนามเริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แม้ว่าปริมาณการส่งออกของเวียดนามยังน้อยกว่าไทยมาก แต่อาจนับเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของทั้งไทยและเวียดนาม

ศักยภาพในการแข่งขันของเวียดนามในตลาดจีน

จากข้อมูลตามประมาณการของ FAO ในปี 2543/2544 เวียดนามผลิตหัวมันสดได้ประมาณ 1.7- 1.9 ล้านเมตริกตันหรือประมาณร้อยละ 10 ที่ประเทศไทยผลิตได้โดยเฉลี่ยในแต่ละปี ในพื้นที่ปลูก 210,000-220,000 เฮกตาร์ (1,312,500-1,375,000 ไร่) โดยได้ผลผลิตต่อเฮกตาร์ประมาณ 8.31 ตัน (1.33 ตันต่อไร่ซึ่งต่ำกว่าประเทศไทยประมาณร้อยละ 50) แต่จากการสำรวจการผลิตการและการค้ามันสำปะหลังประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 14 – 18 กันยายน 2544 ของมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ได้รับข้อมูลว่าการผลิตหัวมันสำปะหลังในบางที่ให้ผลผลิตสูงถึง 20-30 ตัน/เฮกตาร์ ( 3.2- 4.8 ตันต่อไร่ ขณะที่ไทยมีผลผลิตต่อไร่ประมาณ 2.5 ตัน) และจากการสังเกตการปลูกของชาวไร่ และสภาพหัวมันสดที่ส่งโรงงาน คาดว่าผลผลิตในปี 2544/45 น่าจะสูงกว่าที่ FAO รายงานไว้มาก โดยคาดว่าน่าจะมีผลผลิต 2,500,000-3,000,000 ตัน และแม้ว่าจะมีการบริโภคภายในประเทศด้วยก็ตาม แต่เวียดนามมีการแปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน และเกาหลีใต้ โดยผลิตภัณฑ์ที่เวียดนามส่งออกประกอบด้วย มันเส้นปอกเปลือก(มันเส้นสะอาด) ส่งออกปีละประมาณ 60,000-80,000 ตัน และแป้งมัน (Starch) ส่งออกปีละประมาณ 60,000 ตัน ซึ่งก็เป็นสินค้าที่เวียดนามส่งออกแข่งกับไทยไปยังตลาดจีน
ในการส่งออกมันสำปะหลังไปจีนนั้น เนื่องจากเวียดนามและจีนมีอาณาเขตติดกัน เวียดนามจึงสามารถส่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังผ่านชายแดนทางภาคเหนือเข้าสู่จีนซึ่งมีขอตกลงการค้าชายแดนระหว่าง
ทั้งสองประเทศ โดยได้รับการลดหย่อนภาษีลงร้อยละ 50 ทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ เวียดนามเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 ในขณะที่ไทยเสียในอัตราร้อยละ 20 ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เวียดนามเสียในอัตราร้อยละ 8.5 ในขณะที่ไทยเสียในอัตราร้อยละ 17 จึงนับเป็นความได้เปรียบประการหนึ่งของเวียดนาม รวมแล้วเวียดนามเสียภาษีร้อยละ 18.50 ขณะที่ไทยต้องเสียภาษีถึงร้อยละ 37

อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันเวียดนามจะสามารถผลิตหัวมันสดได้เพียงประมาณร้อยละ 10 –15 ของปริมาณที่ไทยผลิตได้ แต่ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยทั้งในด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ ประกอบกับค่าจ้างแรงงานต่ำ และการสนับสนุนจากรัฐบาล จึงมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูก ตลอดจนการใช้พันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตสูง นอกจากนั้นคุณภาพของมันเส้นสะอาดของเวียดนามจะสูง เพราะใช้แรงงานในการทำความสะอาดและทำการปอกปัจจัยเหล่านี้ ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้เวียดนามสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตหัวมันสดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของโรงงานผลิตแป้งมัน (Starch)ในเวียดนามจากการลงทุนของไทย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ อีกด้วย คาดว่าภายในปี 2548 เวียดนามจะสามารถผลิตแป้งมัน(Starch) ได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของเวียดนามในการแข่งขันกับไทยเพิ่มสูงขึ้น กล่าวได้ว่าเวียดนามจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย สำหรับการส่งอกแป้งมันไปจีนและอาจจะรวมถึงมันเส้นในอนาคตอีกด้วย

1.3.2 ตลาดมันสำปะหลังในประเทศจีน

มันสำปะหลังส่วนใหญ่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง คือ
1. มันอัดเม็ด ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารเสริมในการเลี้ยงหมู
2. มันเส้น ใช้ในอุตสาหกรรมการหมัก ได้แก่ การผลิตแอลกอฮอล์ กรดซิตริก (กรดมะนาว) และการผลิตเบียร์
3. แป้งมันสำปะหลัง ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ สิ่งทอ กาว และอาหาร
แต่ละปีจีนมีการใช้มันสำปะหลังประมาณปีละเกือบ 7 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2542 มีการใช้มันสำปะหลัง 6.6 ล้านตันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 13 จากปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่มีการใช้มันสำปะหลังลดลงจากปีก่อนหน้า การนำเข้ามันสำปะหลังก็เพิ่มขึ้นตามเพราะจีนมีการผลิตมันสำปะหลังในประเทศเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ การใช้มันสำปะหลังในจีนสามารถแจกแจงรายละเอียดตามวัตถุประสงค์ของการใช้ได้ดังต่อไปนี้
ก. ตลาดมันสำปะหลังเพื่อการเลี้ยงสัตว์
สาธารณรัฐประชาชนจีนนับว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการใช้มันสำปะหลังจากประเทศไทยสูงมาก เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่
1. เป็นประเทศที่มีพลเมืองมากถึง 1,300 ล้านคน
2. เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันกำลังการบริโภคของประชาชนโดยเฉลี่ยยังต่ำอยู่มาก แต่ประเทศจีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากหลังจากการเปิดประเทศ ซึ่งก็หมายถึงการขยายตัวของการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากขึ้น จีนจึงมีการขยายตัวด้านอาหารสัตว์มากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากเดิมที่จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกกากถั่วเหลืองมากที่สุดของโลก แต่การขยายตัวของการเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีการใช้กากถั่วเหลืองในประเทศมากขึ้นจนทำให้ปัจจุบันจีนต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกาปีละประมาณ 3 ล้านตันเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ

การผลิตอาหารสัตว์ในจีน

จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวด้านอาหารสัตว์สูงมากเพื่อเลี้ยงสัตว์สำหรับการบริโภคในประเทศและเพื่อส่งออกบ้างในบางกรณี ซึ่งในปี 2544 ประเทศจีนมีการผลิตอาหารสัตว์ปีละ 60 ล้านตัน แต่สมาคมอาหารสัตว์ประเทศจีนประมาณการว่าปี 2553 ประเทศจีนจะมีความต้องมีการผลิตอาหารสัตว์ปีละ 150 ล้านตัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการผลิตอาหารสัตว์ในแต่ละปีจะต้องมีการใช้วัตถุดิบอาหารแป้ง (ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวสาลี ฯลฯ) ประมาณร้อยละ 60-70 ส่วนที่เหลือเป็นวัตถุดิบอาหารเสริมโปรตีน(กากถั่วเหลือง ปลาป่น ฯลฯ ) และอาหารเสริมต่างๆ จึงเห็นได้ว่าประเทศจีนมีความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้ง 2 ประเภทเพิ่มขึ้นทุกปี จากปัจจุบันที่จีนมีข้าวโพดเหลือส่งออกไปยังประเทศต่างๆในเอเชีย แต่ในอนาคตอันใกล้จีนจะต้องใช้ข้าวโพดในประเทศมากขึ้น ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จากสหรัฐอมริกาซึ่งอาจจะมาจากทั้งสาเหตุทางการค้าและทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นโอกาสของมันสำปะหลังที่จะแทรกเข้าไปแทนตลาดเดิมของข้าวโพดในจีนได้ นอกจากนี้การที่จีนต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นยังจะส่งผลกระทบต่อตลาดวัตถุดิบอาหารสัตว์ของโลกรวมทั้งของภูมิภาคนี้อย่างมาก โดยเฉพาะข้าวโพดที่น่าจะมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีความต้องการในตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของมันสำปะหลังไทยในการใช้ทดแทนข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์ โดยจะขึ้นอยู่กับสารอาหารและราคาโดยเปรียบเทียบของวัตถุดิบทั้งสอง
ในการใช้มันสำปะหลังเพื่อทดแทนข้าวโพดเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์นั้น เนื่องจากมันสำปะหลังมีระดับโปรตีนและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเติบโตของสัตว์ต่ำ การทดแทนระหว่างมันสำปะหลังและข้าวโพดในผลิตอาหารสัตว์จึงต้องมีการเพิ่มส่วนประกอบอื่นในอาหารสัตว์เพื่อให้มีระดับโปรตีนเท่าเทียมกับข้าวโพดก่อน

ข. ตลาดมันสำปะหลังเพื่อผลิตแอลกอฮอล์
จีนใช้มันสำปะหลังในการผลิตแอลกอฮอล์ การผลิตเหล้า เพื่อการบริโภค และบางส่วนใช้เป็นเชื้อเพลิง ในปี 2541-2543 ทั่วประเทศจีนมีกำลังการผลิตแอลกอฮอล์ประมาณ 5.5 – 6.0 ล้านตันต่อปี แต่มีการผลิตจริงประมาณ 3.2 ล้านตัน โดยโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณเซี่ยงไฮ้ และขณะนี้ที่เมืองซานตุงมีโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นหลายโรงงาน บางโรงงานมีกำลังการผลิตถึง 5 แสนตันต่อโรงงาน ส่วนใหญ่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งปกติแล้วการผลิตแอลกอฮอล์สามารถใช้วัตถุดิบได้หลายชนิดโดยที่คุณภาพของแอลกอฮอล์ที่ได้จากวัตถุดิบต่างๆ เช่น ข้าวโพด กากน้ำตาล มันสำปะหลัง ฯลฯ มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกวัตถุดิบในการผลิตแอลกอฮอล์ของโรงงานในจีนจะขึ้นอยู่กับราคาของวัตถุดิบแต่ละชนิด และราคากากวัตถุดิบที่เหลือจากขบวนการผลิตแอลกอฮอล์ โดยกากข้าวโพดและกากมันสำปะหลังตากแห้งขายได้ 400 และ 100 หยวนต่อตัน ตามลำดับ แต่การใช้กากน้ำตาล(Molasses)ในการผลิตแอลกอฮอล์มีผลทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมจึงไม่เป็นที่นิยมใช้ ข้าวโพดและมันสำปะหลังจึงเป็นสินค้าทดแทนกันในอุตสาหกรรมนี้
การผลิตแอลกอฮอล์ของจีนมีการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบมากกว่า 20 % หรือประมาณ 1.92 ล้านตัน และมีแนวโน้มในการใช้หัวมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบมากขึ้น แม้ว่าแหล่งเพาะปลูกอยู่ไกลจากโรงงาน แต่ต้นทุนการผลิตหัวมันในจีนต่ำกว่าการใช้มันเส้น อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดของที่ตั้งโรงงานและฤดูกาลเก็บเกี่ยว
จากตัวอย่างของโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ Feng Run Jui Yey Ou Xien Gong Si ที่ผลิตสุราได้ปีละ 20,000 ตันต่อปี พบว่าในปี 2544 ได้ใช้มันเส้นจากไทยในการผลิตเหล้าประมาณ 20,000 ตัน และจากอินโดนีเซียประมาณ 10,000 ตัน มีอัตราการแปรงสภาพมันเส้น : แอลกอฮอล์ (3 : 1) โดยปริมาณ เชื้อแป้งและราคามันเส้น ณ โรงงานของประเทศต่างๆในขณะนี้

ค. ตลาดมันสำปะหลังเพื่อผลิตกรดมะนาว
มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่จีนใช้ในการผลิตกรดมะนาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกรดมะนาวถูกใช้แพร่หลายที่สุดในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ในทางการแพทย์ และในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งกรดมะนาวถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้
1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ใช้เพื่อปรับรสชาติและรักษาอาหาร ตั้งแต่น้ำผลไม้ อาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม แยม ไอศกรีม ลูกกวาด เป็นต้น
2.ทางการแพทย์ จะใช้กรดมะนาวผสมลงในยาและเครื่องสำอางค์ นอกจากนั้นยังใช้ในรูปของ โซเดียมซิ เตรด เพื่อรักษาไม่ให้เลือดแข็งตัว
3.อุตสาหกรรมเคมี ใช้กรดมะนาวในอุตสาหกรรมเส้นใย โลหะ และในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผงซักฟอก ซึ่งใช้โซเดียมซิเตรด แทน โพลีฟอสเฟต เพื่อลดปัญหามลพิษจากผงซักฟอก แต่อาจยังไม่แพร่หลายเพราะมีต้นทุนการผลิตผงซักฟอกแพงกว่า
ประเทศจีนมีการผลิตกรดมะนาวทั่วประเทศปีละประมาณ 350,000 ตันต่อปี ถือว่าเป็นประเทศที่มีการผลิตกรดมะนาวเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากการผลิตกรดมะนาวทั่วโลกประมาณ 1 ล้านตัน วัตถุดิบหลักในการผลิตกรดมะนาว คือ มันสำปะหลังและข้าวโพด อย่างละร้อยละ 50 โดยทางใต้ของจีนใช้มันสำปะหลังในการผลิต ส่วนทางภาคเหนือใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่ในปี 2544 ทางเหนือมีการใช้มันเส้นเป็นวัตถุดิบด้วย เนื่องจากขาดแคลนข้าวโพด โดยมีอัตราส่วนการผลิตกรดมะนาว : มันเส้น คือ (1 : 1.5) กิโลกรัม ดังนั้นจึงมีการใช้มันสำปะหลังในการผลิตกรดมะนาวประมาณ 260,000 ตัน ส่วนกรดมะนาวที่ผลิตได้ร้อยละ 85 ผลิตเพื่อการส่งออก และส่วนที่เหลือร้อยละ 15 ใช้ภายในประเทศ จึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ปัญหาที่สำคัญของมันเส้นไทยในการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกรดมะนาว คือ มันเส้นไทยมีคุณภาพต่ำกว่ามันเส้นเวียดนาม และอินโดนีเซีย เพราะมีทรายผสมอยู่ในเปอร์เซ็นต์สูงกว่า คือ มันเส้นไทยมีทรายสูงกว่า 3% ขณะที่มันเส้นของเวียดนามมีทราย 1% ส่วนของอินโดนีเซียมีทราย 1-2% และมีกลิ่นบูดเปรี้ยว โรงงานผลิตกรดมะนาวบางแห่งของจีนจึงนิยมใช้มันเส้นของเวียดนามและอินโดนเซียมากกว่า แม้ว่าราคาของมันสำปะหลังไทยจะต่ำกว่า ซึ่งราคามันเส้นเวียดนาม ณ เมืองกวางสีเคยสูงสุดที่ตันละ 110 เหรียญสหรัฐ และมีผู้ผลิตกรดมะนาวในจีนบางแห่งให้ความเห็นว่าถ้าราคามันเส้นของไทยถูกกว่าของเวียดนาม 20- 30 เหรียญก็จะหันมาใช้มันสำปะหลังจากไทย
สำหรับการปรับตัวเรื่องคุณภาพของมันสำปะหลังไทยนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาไทยผลิตมันสำปะหลังเพื่อส่งออกไปเป็นอาหารสัตว์ในสหภาพยุโรปเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรจึงทำได้ยาก เพราะปริมาณการซื้อไม่มาก แต่ขณะนี้ไทยมีการผลิตมันเส้นคุณภาพพิเศษขายโรงงานผลิตกรดมะนาวในประเทศแต่มีการผลิตในปริมาณจำกัด ซึ่งเป็นมันเส้นปอกเปลือกแล้วและมีทรายประมาณ 1% หากทางจีนมีความสนใจมันเส้นคุณภาพพิเศษไทยก็สามารถวางแผนการผลิตเพิ่ม เพราะช่วงหัวมันออกสู่ตลาดมากระหว่างเดือนธันวาคม – มีนาคม เป็นช่วงไม่มีฝน สามารถผลิตมันเส้นคุณภาพดีและรวบรวมขายให้กับผู้ซื้อจีนได้ตลอดทั้งปี
ง. ตลาดแป้งมันสำปะหลังในจีน
แป้งมันสำปะหลังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้หลายประเภท ได้แก่
1.สารให้ความหวาน มี 5 ประเภท คือ ไฮฟรักโตส กลูโคส เด็กซโตรสโมโนไฮเดรต เด็กซโตรสแอนไฮเดรต และซอบิทอล ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาสีฟัน เป็นต้น
2.อุตสาหกรรมกระดาษ ในการผลิตกระดาษจะต้องใช้แป้งผสมน้ำพ่นเป็นฝอยลงบนเยื่อกระดาษเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิวกระดาษ ทำให้เวลาพิมพ์ลาย ผิวกระดาษจะไม่หลุดง่าย นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักกระดาษ ความขาว และทำให้ผิวกระดาษเป็นมันวาว โดยแป้งจะเคลือบอยู่ประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักกระดาษ
3.อุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้แป้งมันสำปะหลังในกระบวนการผลิตได้ 3 ขั้นตอน คือ
-ขั้นตอนการเตรียมด้าย ซึ่งด้ายที่ใช้สำหรับทอต้องผ่านการชุบแป้งก่อนเพื่อให้ด้ายลื่น และไม่มีขนเวลาทอ ทั้งยังมีความยืดหยุ่นดีขึ้น ด้ายที่ต้องผ่านการชุบแป้ง คือ ด้ายแนวยืน สำหรับแป้งที่ใช้เป็นประเภท oxidized starches acetylates และ hydroxyethyl starches
-ในงานพิมพ์ผ้าต่างๆ แป้งถูกใช้เพื่อทำหน้าที่เพิ่มความสม่ำเสมอของสีที่พิมพ์ และป้องกันการเปรอะเปื้อนของผ้าพิมพ์ในขณะที่พิมพ์และ หลังจากพิมพ์เสร็จ สำหรับแป้งที่ใช้เป็นประเภท pregelatinized starch ether และแป้งดัดแปรอื่นๆ
- ขั้นสุดท้าย ซึ่งต้องมีการใช้แป้งเพื่อความเงางามและคงทนของเนื้อผ้า แต่เมื่อมีการใช้ใยสังเคราะห์มากขึ้น การใช้แป้งเพื่อเปลี่ยนรูปร่าง และเพิ่มความทนทาน เริ่มลดความสำคัญลง
4.อุตสาหกรรมกาว แป้งมันสำปะหลังใช้ในการทำกาว (เดกซ์ตริน)ซึ่ง คือแป้งผสมสารเคมีต่างๆ สามารถใช้ในหลายอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้เคลือบเส้นด้ายแบบยืน การย้อมผ้า อุตสาหกรรมกระดาษเพื่อเพิ่มความเหนียวและช่วยให้หมึกติดง่ายขึ้น และอุตสาหกรรมไม้อัด ที่ใช้กาวในการประกบไม้ติดกัน เป็นต้น
จีนมีการผลิตแป้งรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน เป็นแป้งข้าวโพด 80% แป้งมันสำปะหลังและแป้งอื่นๆ 20% คือประมาณ 300,000 ตัน โดยแป้งมันสำปะหลังส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษภายในประเทศ แต่การผลิตแป้งมันสำปะหลังในจีนมีปัญหาการใช้น้ำปริมาณสูงประมาณ 13 – 15 ลูกบาตก์เมตรต่อตัน ส่วนไทยใช้น้ำน้อยกว่า 10 ลูกบาตก์เมตรต่อตัน
จ. ตลาดแป้งมันสำปะหลังเพื่อผลิตแป้งมันแปรรูป (Modified Starch)
แป้งมันแปรรูป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำแป้งดิบมาทำให้สมบัติทางกายภาพ และทางเคมีเปลี่ยนไปโดยวิธีการทางเคมี หรือการใช้เอนไซม์เพื่อให้มีคุณสมบัติต่างๆตามต้องการ การผลิตแป้งมันแปรรูป (Modified Starch)จะใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังในการแปรรูปได้ 3 ชนิด คือ หัวมันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง และมันเส้น การเลือกใช้วัตถุดิบใดขึ้นอยู่กับฤดูการผลิตและราคาของวัตถุดิบแต่ละชนิด โดยอัตราการแปรรูป ได้แก่ หัวมันเส้น : แป้งดิบ (4:1) มันเส้น : แป้งดิบ (1.9:1) และหัวมันสำปะหลังสด : มันเส้น (2.5-2.6 : 1) แต่โดยปกติจะไม่ใช้มันเส้นในการผลิตแป้งมันแปรรูป เพราะจะได้คุณภาพแป้งที่ต่ำกว่าปกติ และต้นทุนการผลิตสูง ยกเว้นช่วงขาดแคลนวัตถุดิบ
แป้งดิบ (Native Starch) เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งดัดแปรอย่างหนึ่งของจีน สำหรับโรงงานที่อยู่ในที่มีความเจริญทำให้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังลดลงทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตจะมีแนวโน้มในการซื้อแป้งดิบจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วแป้งมันสำปะหลังไทยมีคุณภาพดีกว่าแป้งมันสำปะหลังของเวียดนาม แต่ไทยเสียเปรียบเรื่องภาษี โดยไทยต้องเสียภาษีนำเข้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 37% ขณะที่เวียดนามต้องเสียภาษี 18.5%

1.3.3 ราคาของมันสำปะหลังในประเทศจีน

โดยเฉลี่ยแล้วในประเทศจีนหัวมันราคาประมาณ 300 หยวนต่อตัน(1,650 บาท) และราคามันเส้นอยู่ที่ 800 หยวนต่อตัน(4,400 บาท) ที่หน้าโรงงาน ณ มณฑลกวางสี ส่วนราคามันเส้นช่วงต้นฤดู ณ โรงงานแป้งมันแปรรูปอยู่ที่ 900 หยวนต่อตัน (4.95 บาทต่อกิโลกรัม) ขณะที่ราคาแป้งมันของจีนหน้าโรงงานอยู่ที่ประมาณ 2,000 หยวนต่อตัน (11 บาทต่อกิโลกรัม) ราคาแป้งมันเวียดนาม (รวมภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม) 2,100 หยวนต่อตัน(11.56 บาทต่อกิโลกรัม) ส่วนราคามันเส้นเวียดนามคือประมาณ 800-1,200 หยวนต่อตันโดยมีเชื้อแป้ง 69-70 % (มีปริมาณการผลิต 100,000 ตันต่อปี)

1.3.4 การขายและการขนส่งมันสำปะหลังไปยังจีน

การขายมันสำปะหลังในประเทศจีนมีการขายผ่านบริษัทนายหน้า ซึ่งจัดธุรกรรมติดต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ ทำให้ผู้ผลิตโดยปกติไม่มีข้อมูลว่าผู้ซื้อเป็นบริษัทใด
ท่าเรือเซี่ยงไฮ้เป็นท่าเรือสำคัญในการนำเข้ามันเส้นจากประเทศไทย โดยมีขั้นตอนการขนถ่ายมันสำปะหลังที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ คือ เมื่อเรือเทียบท่าจะมีการตรวจวัดน้ำหนักสินค้าโดยวิธี Draft Survey (ครั้งแรก) แล้วใช้ GRAB ตักมันเส้นจากเรือใหญ่เทลงไปในกระพ้อแล้วบรรจุกระสอบใช้รถบรรทุกลำเลียงเก็บเข้าคลังสินค้าจนหมดแล้วจึง Draft Survey ครั้งที่สอง จึงคำนวณหาน้ำหนักสินค้า ซึ่งการขนถ่ายมันเส้นจากเรือใหญ่ที่บรรทุกมันเส้นจำนวน 14,000 ตัน สามารถขนถ่ายแล้วเสร็จสิ้นภายใน 4 วัน ส่วนการขนถ่ายมันเส้นออกจากโกดังทำโดย ชั่งรถบรรทุกที่ไม่มีสินค้าแล้วใช้รถขนสินค้าในคลังสินค้าจากนั้นชั่งรถบรรทุกพร้อมสินค้าจึงขนสินค้าไปส่งที่โรงงาน น้ำหนักของมันที่ออกจากโกดังจะเท่ากับน้ำหนักรถบรรทุกพร้อมสินค้าหักด้วยน้ำหนักรถบรรทุกเปล่า

1.3.5 แนวโน้มการผลิตสินค้าทดแทนมันสำปะหลัง

เนื่องจากข้าวโพดเป็นวัตถุดิบทดแทนการใช้มันสำปะหลังไม่ว่าจะเป็นการผลิตแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ หรือแป้ง จึงควรพิจารณาการผลิตและปริมาณข้าวโพดของจีนซึ่งจะกระทบต่อการนำเข้ามันสำปะหลัง ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 รัฐบาลจีนได้นำสต็อกข้าวโพดปี 2540/41 ออกประมูลให้กับผู้ประกอบการแอลกอฮอล์จำนวน 3 ล้านตันในราคา 720 หยวนต่อตัน และในด้านการผลิตข้าวโพดของจีนคาดว่าในปี 2545 ประเทศจีนจะมีการเพาะปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 5 – 8 เนื่องจากมณฑลซานตุงได้เปลี่ยนพื้นที่ปลูกมันเทศหวานมาปลูกข้าวโพดแทน เพราะราคาดี ทำให้ในปี 2545 การผลิตข้าวโพดของจีนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 15 ล้านตัน โดยการผลิตภายในประเทศช่วงฤดูใบไม้ร่วงเพิ่มขึ้น 10 ล้านตัน และตามข้อตกลงองค์การการค้าโลกจีนต้องนำเข้าข้าวโพดได้อีก 5 ล้านตัน จะมีผลทำให้ราคาข้าวโพดลดลง อย่างไรก็ตามในอดีตราคาข้าวโพดในจีนสามารถแกว่งตัวได้สูงมาก เช่น ข้าวโพดเคยราคาต่ำสุด ณ เมืองกวางตุ้งที่ราคา 1,200 หยวนต่อตัน (6.6 บาทต่อกิโลกรัม) และ ณ เดือนพฤศจิกายน 2544 ราคาสูงขึ้นเป็น 1,800 หยวนต่อตัน (9.9 บาทต่อกิโลกรัม) มันสำปะหลังจึงต้องแข่งขันด้านราคากับข้าวโพดมากขึ้น ส่วนอ้อยซึ่งเป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลังในการผลิตแอลกอฮอล์นั้น จีนมีพื้นที่ปลูกประมาณ 7.2 ล้านหมู่ ( 3 ล้านไร่)ให้ผลผลิต 3 ล้านตันต่อปี ส่วนทางใต้ของจีนปี 2544 ราคาอ้อยดีได้มีการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมาปลูกอ้อยแทน การผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณความต้องการมันสำปะหลังลดลง
ผู้ประกอบการจีนส่วนใหญ่จะพึ่งพามันสำปะหลังจากไทยเป็นหลัก โอกาสการขยายตลาดไปยังจีนจึงมีสูงมาก จากการประมาณความต้องการมันสำปะหลังคาดว่าตลาดจีนน่าจะต้องการมันสำปะหลังไม่น้อยกว่าปีละ 5 – 10 ล้านตัน ในช่วง 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามมันสำปะหลังที่ประเทศจีนต้องการเป็นมันเส้นและมันอัดเม็ดที่มีคุณภาพดี หรือเป็นมันเส้นและมันอัดเม็ดที่สะอาดเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมการหมักต่างๆ เช่น การหมักแอลกอฮอล์ หมักเบียร์ หมักกรดซิตริก ฯลฯ นอกจากนี้คุณภาพต้องสม่ำเสมอด้วย

1.3.6 ปัญหาของมันสำปะหลังไทยในการส่งออกไปจีน

- คุณภาพของมันเส้นไทยไม่สม่ำเสมอ
- ปัญหาน้ำหนักขาดระหว่าง 10-100 ตัน ต่อการรับมอบสินค้าหนึ่งครั้ง
- มีการคาดว่า ในปี 2545 จีนจะมีการนำเข้ามันเส้นจากไทยลดลงประมาณ 50% ของปี 2544 เนื่องจาก ประเทศจีนมีการผลิตวัตถุดิบที่ใช้แทนมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นในปี 2545 ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด มันเทศหวานและกากน้ำตาล ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากการที่มณฑลกวางสีมีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นประมาณ 30 %
- คุณภาพมันเส้นของไทยไม่ดีเมื่อเทียบกับมันเส้นปอกเปลือกของเวียดนามและอินโดนีเซีย เนื่องจากมันสำปะหลังไทยมีชิ้นเล็กทำให้มีฝุ่นผงและทรายมาก ควรปรับปรุงและบรรจุในกระสอบเพื่อสะดวกในการขนถ่าย
- โรงงานมันสำปะหลังในจีนส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการนำเข้ามันสำปะหลังด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตในการนำเข้า คลังสินค้า ปริมาณการนำเข้าที่มากพอเพื่อลดค่าระวางเรือ จึงต้องซื้อ สินค้าจากพ่อค้าคนกลางทำให้ราคามันสำปะหลังสูง

1.4 การลงทุน

ผู้ประกอบการจีนสนใจลงทุนทำมันสะอาดในไทย เพื่อส่งออกไปขายยังประเทศจีน นอกจากนั้นในปัจจุบันจีนมีการลงทุนตั้งโรงงานกรดมะนาวในประเทศไทยที่จังหวัดระยองโดยเริ่มดำเนินการในปี 2544 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนของจีนในไทย สำหรับอุตสาหกรรมนี้

1.5 กฏกติกาการค้าของจีนที่กระทบต่อการส่งออกมันสำปะหลังของไทย

วัตถุดิบภายในประเทศที่ใช้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทันที แต่เมื่อมีการส่งออกจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนต่าง สำหรับการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทันที ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม

อัตราภาษีนำเข้าก่อนจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

แม้ว่าจีนจะมิได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษ (มาตรการที่มีใช่ภาษี) ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไว้ แต่จีนได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าไว้ค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าไทยจะได้รับสิทธิพิเศษโดยเสียภาษีในอัตราพิเศษที่ต่ำกว่าอัตราทั่วไปดังตารางแล้วก็ตาม แต่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 17 ด้วย

1.6 กฎกติกาการค้าสากล

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นรายการสินค้าหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกขึ้นเจรจาในองค์การการค้าโลก (WTO) และไทยประสบความสำเร็จในการเจรจาขอลดอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหลายรายการ โดยจีนมีข้อผูกพันในการลดภาษีลงครั้งแรกในปีที่จีนเข้าเป็นสมาชิกและลดลงเป็นลำดับจนถึงปี 2547

2. อุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทย

มันสำปะหลังเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยที่เป็นรองก็แต่ข้าวและยางพารา มันสำปะหลังสามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท และผูกพันกับเกษตรกรไม่น้อยกว่า 6 ล้านคนที่มีอาชีพเพาะปลูกมันสำปะหลังซึ่งสามารถผลิตหัวมันสำปะหลังสดได้ประมาณ 20 ล้านตันต่อปีบนพื้นที่เพาะปลูก 10 ล้านไร่ นอกจากนี้เศรษฐกิจมันสำปะหลังยังสัมพันธ์กับการเป็นอาหารเพื่อบริโภคในรูปแป้งมัน และการเป็นอาหารสัตว์ที่ผลิตจากมันสำปะหลังอัดเม็ดหรือมันเส้น

2.1 การผลิต

2.1.1 ปริมาณผลผลิต

ประเทศไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังได้ในช่วงปี 2541-2544 ลดน้อยลงกว่าช่วงปี 2539-2540 โดยในปี 2543 มีพื้นที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังประมาณ 7 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2542 ประมาณร้อยละ 6.5 แต่สำหรับปี 2544 นั้นคาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงประมาณร้อยละ 3 แต่แม้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจะมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าช่วงปี 2539-2540 แต่ปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในปี 2543 ก็มีมากกว่าที่เคยผลิตได้ในปี 2539-2540 คือได้ผลผลิตเกือบ 19 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2542ประมาณร้อยละ13.6 ส่วนในปี 2544 มีการคาดว่าผลผลิตจะลดลงประมาณร้อยละ 2.5 ทำให้มีผลผลิตเพียง 18.28 ล้านตัน
ประสิทธิภาพในการผลิตมันสำปะหลังของไทยนั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2542 และ2543 คือในปี 2542 มีผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว 2,479 กิโลกรัมต่อไร่ของพื้นที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นจากปี 2541 ประมาณร้อยละ 3.8 ส่วนปี 2543 มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากปี 2542 ทำให้มีผลผลิต 2,643 กิโลกรัมต่อไร่ และในปี 2544 คาดว่าการปลูกมันสำปะหลังของไทยจะมีผลผลิต 2,649 กิโลกรัมต่อไร่
2.2 การใช้มันสำปะหลังของไทย

จากปริมาณหัวมันสำปะหลังทั้งหมดประมาณ 17,814,562 ตันในปี 2542 /43 ได้ถูกนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันเส้นและมันอัดเม็ดจำนวน 8,474,698 ตันหัวมัน คิดเป็นร้อยละ 47.57 ของมันทั้งหมด และส่วนใหญ่จะถูกส่งออกในรูปของมันอัดเม็ดถึงร้อยละ 41.48 คิดเป็นมันอัดเม็ดจำนวน 3,212,896 ตันนอกจากการส่งออกในรูปมันอัดเม็ดแล้วยังมีการนำหัวมันสำปะหลังมาแปรรูปเป็นแป้งเพื่อการส่งออกร้อยละ 31.74 ของหัวมันที่ผลิตได้ทั้งหมด คิดเป็นแป้งมันสำปะหลังปริมาณ 1,413,718 ตัน รวมแล้วไทยส่งออกมันสำปะหลังถึงร้อยละ 73.22 ในรูปของผลิตภัณฑ์มันต่างๆกันไป
ส่วนการใช้มันสำปะหลังที่เหลือร้อยละ 26.78 ถูกใช้ในการบริโภคในประเทศ ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในการผลิตแป้งเพื่อผลิตสารให้ความหวานมากที่สุดประมาณร้อยละ 6.66 รองลงมาคือ ใช้ผลิตมันเส้น แป้งเพื่อทำผงชูรสและแอล-ไลซีน และ ใช้แป้งเป็นอาหารและบริโภคในครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 5.61, 4.46 และ 3.29 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังใช้เป็นแป้งในการผลิตกระดาษ สิ่งทอ สาคู ยา กาว และไม้อัดด้วย